สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1657 พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน

วรรคสอง การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้

วรรคสาม บทบัญญัติมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรานี้

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2551 พินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับ ย่อมไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 คงเป็นแต่พินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ที่ต้องมีพยานรู้เห็นซึ่งมาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน การที่พยานในพินัยกรรมพิพาทลงลายมือชื่อเป็นพยานภายหลังจึงขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าวพินัยกรรมพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8018/2547 การทำพินัยกรรมอาจทำได้หลายแบบ เมื่อผู้ตายเขียนพินัยกรรมเองทั้งฉบับโดยมีข้อความครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ ป.พ.พ. มาตรา 1657 กำหนด แม้จะให้พยานลงชื่อแต่ก็เป็นส่วนเกินที่ไม่ทำให้พินัยกรรมแบบเขียนขึ้นเองทั้งฉบับต้องเสียไป พินัยกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเป็นโมฆะตามรูปแบบนินัยกรรมชนิดอื่นอีกหรือไม่ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องเช่นนี้ ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2546 ผู้ตายซึ่งเป็นพระภิกษุเขียนพินัยกรรมขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของผู้ตายไว้ครบถ้วนถูกต้องตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1675 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ โดยเฉพาะข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 1 ที่ระบุว่า"ทรัพย์สินเงินทองและเข้าของต่างของข้าพเจ้า ที่อยู่ในห้องของข้าพเจ้านี้มอบให้กับทายาทของข้าพเจ้า ในเมื่อข้าพเจ้าตายไปแล้ว" นั้น ก็มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเงินในสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่พบในห้องนอนของผู้ตายให้แก่ทายาทเมื่อผู้ตายมรณภาพ การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่าง ๆ ด้วย" แม้จะไม่ชอบตามมาตรา 1657 วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็มีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความดังกล่าว เท่านั้นส่วนข้อความอื่นยังคงสมบูรณ์ หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นโมฆะไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8222/2540 พินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเอง ทั้งฉบับ แต่ไม่ระบุวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมอันเป็นการทำพินัยกรรมที่ไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ไม่มีพินัยกรรม และเมื่อการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 แม้เอกสารฉบับพิพาทพร้อมคำแปลจะมีข้อความว่า ป.เจ้ามรดกเป็นผู้ทำ และมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ โดยผู้ทำลงวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตนในเอกสารอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเท่านั้น ไม่ใช่ต้นฉบับเอกสาร จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93กรณีไม่อาจฟังว่า ป. เจ้ามรดกทำพินัยกรรมนั้นไว้จริง เมื่อเอกสารที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเอกสารการรับเป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันระหว่าง ป. เจ้ามรดกกับผู้คัดค้านเป็นเพียงสัญญารับบุตรบุญธรรมเพราะ ป.เจ้ามรดกไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอรับบุตรบุญธรรม ทั้งไม่ปรากฎว่า ป. เจ้ามรดกได้รับอนุมัติจากศาลปกครองในการรับบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ดังนั้น เมื่อการรับบุตรบุญธรรมของ ป. ไม่สมบูรณ์ และ ไม่มีผลตามกฎหมาย และเมื่อ ป.เจ้ามรดก ไม่ได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของประเทศไทย ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทของ ป.ทั้งเมื่อไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ป. ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของ ป. ได้